พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร อุทยานมังกรสวรรค์ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี (ดูภาพด้านล่าง)
อุทยานมังกรสวรรค์ และพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย – จีน ครบรอบ 20 ปี เมื่อปี 2539 ในสมัยที่ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2551 มีการจัดงานฉลองเปิดไปเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.51 – 1 ม.ค.52 และได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่น่าสนใจของจังหวัดสุพรรณบุรี
อุทยานมังกรสวรรค์ และพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ก่อสร้างขึ้นในบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี โดยก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นรูปมังกรสวรรค์ เทพเจ้าที่เคารพของชาวจีน อยู่ภายในสวนประดับแบบตะวันออก (แต่ไม่พบต้นไม้ใหญ่ เมื่อเดินทางถึงในเวลากลางวัน บรรยากาศโดยรอบจึงร้อนพอสมควร) และอยู่เคียงข้างกับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ดังนั้นทางทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมของเรา จึงขออนุญาตพาทุกท่านเยี่ยมชมศาลเจ้าพ่อหลักเมืองที่เคารพและศรัทธาของชาวสุพรรณบุรีเป็นอันดับแรก
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นศาลที่สร้างในลักษณะสถาปัตยกรรมจีน ด้านหลังมีอาคารลักษณะแบบเก๋งเป็นอาคารหลายชั้น แต่ละชั้นก็จะมีพระพุทธรูป และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ ส่วนชั้นบนสุดเป็นจุดชมวิวระยะไกลได้
|
ความยิ่งใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกรในระยะไกลที่ดูราวกับมังกรซึ่งโบยบินอยู่บนสรวงสวรรค์ |
|
หลากหลายมุมมองของอุทยานมังกรสวรรค์ (พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร) |
|
ศาลหลักเมือง และเก๋ง สถาปัตยกรรมแบบจีนของจังหวัดสุพรรณบุรี |
|
หลากหลายมุมภายในศาลหลักเมืองที่นักท่องเที่ยวและชาวจังหวัดสุพรรณบุรีเคารพสักการะ
|
เมื่อสักการะศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเรียบร้อยแล้ว ทางทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมก็แวะเก็บภาพโดยรอบของอุทยานมังกรสวรรค์ ที่ตัวมังกรนั้นใหญ่มหึมา อยู่บนสายน้ำจำลองแบบแม่น้ำบนสวรรค์ดูน่าตื่นตาตื่นใจ หลังจากนั้นจึงแวะไปติดต่อซื้อบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์มังกรที่อยู่ภายในตัวมังกรดังที่เห็นนั่นเอง (แต่ควรแวะซื้อบัตรก่อนเนื่องจำกัดผู้เข้าชมในแต่ละรอบ รอบที่ใกล้เคียงขณะเดินทางถึงอาจเต็มได้ จะได้จองรอบถัดไปไว้ก่อนให้ไม่ต้องรอนาน) บัตรเข้าชมราคา 299 บาทสำหรับผู้ใหญ่ ส่วนบัตรเด็ก 149 บาท เมื่อได้บัตรและเงินทอนที่มาในรูปซองแต๊ะเอียน่ารัก ๆ แล้วก็คอยฟังเสียงประชาสัมพันธ์ว่ารอบที่ซื้อไว้ให้มารวมตัวกันที่บริเวณหน้าตัวมังกร เมื่อรวมพลสมาชิกในรอบนั้นจนครบแล้วก็จะได้รับแจกถุงสวมรอบเท้ากันคนละคู่เพื่อรักษาความสะอาด ภายในนี้แอร์เย็นฉ่ำ ผิดกับภายนอกลิบลับ เมื่อมาถึงด้านในแล้วก็จะมีม้านั่งให้นั่งรอ มีผู้นำทางสุดสวยในชุดกีเพ้าสีแดงสดใสมาแนะนำสถานที่และที่มารวมถึงกฎในการเข้าชม โดยเฉพาะประตูแต่ละห้องชมจะเปิด ปิดในเวลาจำกัด ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะอ้อยอิ่งได้ เพราะจะถูกขังไว้ในห้องแสดง และรอคนรอบต่อไปมารับ จึงจะออกมาได้ ดังนั้นทีมงานของเราขอเตือนท่านด้วยความหวังดีว่า ขณะเข้าชมทุกท่านควรเกาะกลุ่มกันให้ดีมิฉะนั้นเมื่อกลับออกมาสมาชิกอาจไม่ครบจำนวน
บริเวณหน้าทางเข้าสู่พิพิธภัณฑ์จะพบกับมังกรสวรรค์ทองคำ และบอร์ดแนะนำยุคสมัยต่าง ๆ ของอารยธรรมจีนที่มีอายุยาวนานกว่า 5,000 ปี ที่พวกเรากำลังจะได้เข้าชม เมื่อประตูเปิดออก เหล่านักเดินทางผู้ค้นหาประวัติศาสตร์อันยาวนานก็กรูกันเข้าไปทันที ภายในพิพิธภัณฑ์ใช้ระบบอันทันสมัยของเทคโนโลยีมาใช้จัดแสดงทั้งแสง สี และเสียง ร่วมกับปะติมากรรมรูปจำลองบุคคลสำคัญ และเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เริ่มที่ห้องแรก คือ ห้องนั่งฟังบรรยายเริ่มต้นมีสไลด์มัลติดมีเดียบรรยายให้ฟังคร่าว ๆ
ถัดมาเป็นห้อง ความเชื่อเรื่องการกำเนิดโลกของชาวจีน เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อน ขณะนั้นโลกยังไม่เป็นโลกดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ทุกอย่างรวมกันเป็นกลุ่มก้อนโดยมีผานกู่หลับใหลอยู่ภายในเมื่อตื่นขึ้นและยืดตัว สิ่งที่เบาจึงถูกมือทั้งสองข้างยกขึ้นเป็นฟ้า และส่วนที่หนักจึงตกลงสู่ด้านล่างใต้เท้าของผานกู่เกิดเป็นพื้นดิน ทั้งสองส่วนจึงแยกกันตั้งแต่นั้นมา เมื่อผ่านระยะเวลายาวนานผานกู่สิ้นชีวิต ดวงตาข้างหนึ่งเกิดเป็นพระอาทิตย์ ดวงตาอีกข้างกลายเป็นพระจันทร์ ลมหายใจกลายเป็นลม และเมฆ ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายก็กลายเป็นดวงดาว ภูเขา แม่น้ำ แร่ธาตุธรรมชาติ สัตว์ต่าง ๆ ตั้งแต่นั้นโลกจึงเกิดขึ้น
|
จิตรกรรมฝาผนังภายในเก๋งจีนของศาลหลักเมือง |
เมื่อมีโลก และสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น แต่ยังไม่มีมนุษย์ เทพธิดาหนี่หวาจึงปั้นดินจากริมแม่น้ำเหลืองขึ้นมาเป็นตุ๊กตา และมอบชีวิตให้เกิดเป็นผู้คนชาวจีน (ผิวเหลือง จากดินของริมแม่น้ำ) ช่วงแรก ๆ ต่างก็เก็บผลหมากรากไม้กินกัน จนเมื่อเสินหนงเข้ามาสอนให้รู้จักการปลูกพืช และทำไร่ ไถนา ปลูกสมุนไพร และใบชา เสินหนงจึงได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการเกษตร
จากนั้นเข้าสู่ยุคสมัยของเอี๋ยนตี้ หวงตี้ (หุ่นหินหมุนไปมาได้) เชื่อกันว่า เอี๋ยนตี้เป็นต้นปฐมกษัตริย์ของจีน ในยุคสมัยนี้เริ่มมีการประดิษฐ์คิดค้นพวกแท่นพิมพ์ ดินปืน กระดาษ รถเข็มทิศ ที่ดัดแปลงมาจากเครื่องมือการเกษตร และหมดยุคของตำนานของจีน เข้าสู่ยุคของราชวงศ์ต่าง ๆ
ราชวงศ์แรกของจีนคือราชวงศ์เซี่ยงซาง เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อน เป็นยุคที่ประเทศจีนเกิดอุทกภัยใหญ่ มีบุรุษนามต้าอวี่เป็นผู้ช่วยเหลือแก้ปัญหาโดยการสร้างเขื่อนกั้นจึงสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ ร่วมกับตำนานต้นกำเนิดมังกรที่เล่าขานมาคู่กันกับปลาหลีฮื้อ ว่าปลาหลีฮื้อที่ใช้ความอุตสาหะบากบั่นว่ายน้ำข้ามเขื่อนไปได้จะกลายร่างเป็นมังกร (ที่ห้องนี้มีการฉายภาพเคลื่อนไหวและให้ทดลองจับปลาจากภาพมัลติมีเดีย นักท่องเที่ยวแต่ละคนรวมทั้งทีมงานของเราก็ลงมือไล่จับปลาบนพื้นกันอย่างสนุกสนาน)
ราชวงศ์ถัดไปอยู่ในช่วง 2,500 ปีก่อน เป็นช่วงของราชวงศ์โจวความสำคัญอยู่ที่เป็นอยู่ต้นกำเนิดของลัทธิเต๋า เล่าจื้อ ขงจื้อ และซุนหวูผู้แต่งตำราพิชัยสงครามที่มีชื่อเสียง วลีเด็ดที่ทุกท่านน่าจะเคยได้ยินนั่นก็คือ “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” นอกจากนี้ในช่วงราชวงศ์โจวยังเป็นต้นกำเนิดของบะจ่าง เพื่อระลึกถึงความรักชาติของฉวีหยวนกวีเอกผู้โด่งดัง
ถัดมาเป็นยุคสมัยราชวงศ์ฉินของจินซีฮ่องเต้ ที่รวบรวมก๊กต่าง ๆ ให้เป็นปึกแผ่น สร้างกำแพงเมืองจีน กำหนดมาตรฐานการชั่งตวงวัด จัดระบบการเงิน และอักษรให้เป็นในแนวเดียวกัน และมาถึงยุคสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดของจีนคือราชวงศ์ฮั่น เริ่มมีการรับเอาพุทธศาสนาเข้ามา มีการประดิษฐ์กระดาษมาใช้สอย ปลายราชวงศ์เมืองต่าง ๆ แตกเป็นก๊ก เป็นเหล่า เริ่มยุคของสามก๊ก (ในห้องนี้มีหุ่นจำลองเรือรบแสดงตอนโจโฉแตกทัพเรือ) ผ่านราชวงศ์สุ่ยยุคที่กษัตริย์เป็นทุรยศ และเข้าสู่ยุคเฟื่องฟูของจีนอีกครั้งในสมัยราชวงศ์ถัง ในสมัยนี้เป็นต้นกำเนินวัดเส้าหลินที่มีชื่อเสียง ถัดมาเป็นยุคของราชวงศ์ซ่งเหนือ บุคคลสำคัญในยุคนี้คือ เปาบุ้นจิ้นผู้ทรงความยุติธรรม ในห้องจัดแสดงท่านจะได้พบกับท่านเปา จั่นเจา หวังเฉา หม่าฮั่น จางหลง จางหู่ ที่กำลังตัดสินคดีความอยู่ภายในศาลไคฟง
ยุคถัดมาเป็นสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ มีตำนานเล่าขานกันถึงงักฮุย ข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ แต่ถูกคนใส่ร้ายทำให้ต้องโทษประหาร ชาวบ้านต่างเศร้าโศกเสียใจและแค้นเคืองคนที่ใส่ร้ายเป็นอย่างมาก จึงนำแป้งมานวดปั้นเป็นรูปแท่งสองแท่งประกบกันแทนสองสามีภรรยาผู้ชั่วช้า เสร็จแล้วจึงนำมาทอดในน้ำมันร้อน ๆ ให้หายแค้น
ี้
|
ผานกู่ ผู้สร้างโลก และเทพธิดาหนี่หวาผู้สร้างมนุษย์ (สองภาพกลาง) |
|
ส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่ในยุคสมัยอันรู่งเรืองของจีน |
|
ท่านเปาบุ้นจิ้นผู้ผดุงความยุติธรรม ในสมัยซ่งเหนือ |
|
หุ่นจำลองวัฒนธรรมของชาวจีนทั้งการแต่งกาย และศิลปะการแสดง |
|
ปูยี จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน(ภาพที่ 2จากซ้าย) และผู้นำจีนสู่ความเป็นสาธารณรัฐ (ภาพขวาสุด) |
ยุคต่อมาเป็นสมัยราชวงศ์หยวนตรงกับสมัยสุโขทัย เป็นสมัยแรกที่ชาวจีนถูกปกครองโดยชาวต่างชาติ เหล่าผู้รักชาติต้องการรวมตัวกันเพื่อกู้เอกราชคืนจึงคิดค้นการส่งสารลับเพื่อนัดหมาย โดยยัดจดหมายลงไส้ขนมที่ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ เพื่อซ่อนจากสายตาศัตรู แล้วนำไปแจกจ่ายกันในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง หลังจากกู้เอกราชคืนได้สำเร็จ เทศกาลไหว้พระจันทร์จึงจัดขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น ต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิง หรือราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายของจีน ตรงกับสมัยอยุธยาไปจนถึงช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 ของไทย เจิ้งเหอหรือซำเปากงได้ล่องเรือสำเภาค้าขาย (ตรงนี้นักท่องเที่ยวจะได้ยืนบนเรือสำเภาจำลองที่เคลื่อนไหวได้จริง) เป็นต้นกำเนิดของเครื่องลายคราม อุปรากรณ์จีน(งิ้ว) การจัดสวนแบบจีนที่เป็นศิลปะของการจัดหินและน้ำอย่างสวยงาม ช่วงปลายราชวงศ์เกิดสงครามฝิ่น และจีนเป็นฝ่ายแพ้จึงต้องยกฮ่องกง และมาเก๊าให้อังกฤษเช่า และเป็นการสิ้นสุดยุคของราชวงศ์ต่าง ๆ ของจีน เข้าสู่ยุคของสาธารณรัฐโดย ดร.ซุนยัดเซน ห้องแสดงต่าง ๆ มาสิ้นสุดที่บริเวณนี้
หลังจากนั้นจะเข้าสู่ห้องร้อยแซ่ เป็นห้องแสดงแซ่ต่าง ๆ ของชาวจีนทั้งที่มา และความหมายของแซ่ต่าง ๆ ให้เป็นความรู้ หลังจากนั้นก็เข้าสู่ห้องซื้อของฝากของที่ระลึก และเดินทางออกก็เป็นการสิ้นสุดการเที่ยวชมอุทยานมังกรสวรรค์ และพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกรไว้แต่เพียงเท่าน
การเดินทาง (ขอบคุณที่มาการเดินทางจาก ททท.) เส้นทางสู่อุทยานมังกรสวรรค์
- รถยนต์ส่วนตัว มีเส้นทางที่สะดวกที่สุดคือใช้ถนนรัตนาธิเบศร์ ที่เชื่อมกับวงแหวนรอบนอก (ถนนกาญจนาภิเษก) ไปทางอำเภอบางบัวทอง จากนั้นเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 340 ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุทธยาเข้าสู่เขตจังหวัดสุพรรณบุรีที่อำเภอบางปลาม้า ถนนเข้าเมืองสุพรรณบุรี เป็นถนนสี่เลนกว้างขวางและสะอาดตา
- รถโดยสารประจำทาง สามารถใช้บริการของรถโดยสารประจำทาง ซึ่งออกจากสถานีขนส่งหมอชิต (ถนนกำแพงเพชร) และสถานีขนส่งสายใต้ (ถนนบรมราชชนนี) ทุกวัน
- รถไฟ ถ้าต้องการบรรยากาศการท่องเที่ยวโดยรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทยก็มีขบวนรถไฟไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี รถออกเวลา 16.40 น. ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง
- รถสองแถว (บริการเฉพาะภายในตัวเมืองสุพรรณ) การเดินทางในตัวเมืองสุพรรณมีรถสองแถวให้บริการ โดยขึ้นบริเวณสี่แยกนางพิม หากต้องการเดินทางออกนอกตัวเมืองติดต่อสอบถามที่คิวรถบริเวณสี่แยกนางพิมได้เลย
คำแนะนำ
เปิดวันพุธ - วันอาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00 - 16.00 น.
อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ผู้ใหญ่ : 299 บาท เด็ก : 149 บาท
ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ : 499 บาท เด็ก : 299 บาท
ติดต่อสอบถาม หรือจองบัตรเข้าชม พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร โทร. 0 35-526211
|